20 วิธี เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กฉลาด

20 วิธี เสริมพลังสมองลูกให้เป็นเด็กฉลาด

การพัฒนาสมองลูกเริ่มต้นได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์และวัยทารก โดยปฏิบัติตาม 20 วิธี เสริมพลังสมองลูกให้เป็นเด็กฉลาด ซึ่งพ่อแม่เพียงแต่ใช้เวลาใส่ใจ ดูแล สัมผัสลูกให้มากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนเป็นตัวเงิน นั่นหมายความว่าพ่อแม่ที่ไม่รวยก็ช่วยให้ลูกมีสุขภาพดีและเฉลียวฉลาดได้

 

1. รักษาสุขภาพให้ดีระหว่างมีครรภ์

แม่ที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ต้องรักษาสุขภาพให้ดี และเพิ่มความระมัดระวังเรื่องการใช้ยาต่าง ๆ ซึ่งสามารถส่งผลต่อสมองเด็กในครรภ์ แม่ที่ติดบุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือยาเสพติดจะทำให้ลูกเกิดมามีสมองที่ถูกทำลาย เรียนรู้ได้ช้าและมีพฤติกรรมก้าวร้าว

 

2. พูดคุยกับลูกอยู่เสมอ

แม้เด็กทารกยังพูดไม่ได้ แต่พ่อแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการสมองของลูกโดยการคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงรื่นเริง อบอุ่น ตอบสนองเวลาลูกทำเสียงอ้อแอ้ พูดคำศัพท์ที่ช้า ๆ ชัด ๆ ทีละพยางค์ เน้นเสียงสูง สมองลูกจะทำความเข้าใจการพูดและการเลียนเสียงภาษา ถ้าพ่อแม่กระตุ้นโดยการพูดคุยตอบสนองลูกบ่อย ๆ ลูกจะฉลาดและพูดได้เร็ว

 

3. เล่นเกมส์ซึ่งใช้นิ้วมือกับลูก

เป็นเกมส์สำหรับเด็กเล็ก ๆ มักใช้ประกอบคำคล้องจอง หรือเพลงสำหรับเด็ก เช่น เกมจ๊ะเอ๋ คำคล้องจองแมงมุม ฯลฯ เด็กเล็กๆ สามารถตอบสนองและเรียนรู้เกมส์ที่มีการเรียงลำดับง่าย ๆได้ดี

 

4. ใส่ใจลูก

สังเกตลูก เวลาที่ลูกชี้อะไรให้สนใจตอบสนองลูก พ่อแม่ต้องหัดดูและสังเกตว่าลูกชี้หรือสนใจอะไร การแสดงความสนใจร่วมกับลูก จะทำให้ลูกมั่นใจว่าความสนใจและการสังเกตของลูกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่ ทำให้เด็กเติบโตเป็นคนช่างสังเกตใฝ่รู้ใฝ่เรียน

 

5. เสริมสร้างนิสัยรักการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์

เลือกหนังสือภาพเล่มใหญ่ที่มีภาพและสีสันสวยงามดูหนังสือภาพกับลูกชี้ชวนให้ลูกดูภาพ ทำเสียงประกอบ เช่น เสียงสัตว์เลี้ยง พ่อแม่ควรใช้น้ำเสียงที่น่าสนใจและ
สนุกสนานในการเล่าเรื่อง เล่าเรื่องราวง่าย ๆ ให้ลูกฟัง ชักชวนให้ลูกวัยเตาะแตะพูดถึงหนังสือภาพ แต่จำไว้เสมอว่าในวัยนี้เราต้องการฝึกให้เด็ก “รับภาษา” คือเข้าใจภาษาพูดมากกว่าที่จะให้เด็กพูดได้เป็นเรื่องราว

 

6. ใช้เวลาช่วงเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า

สำหรับเสริมสร้างพัฒนาการทางอารมณ์ หรือเสริมสร้างความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่กับลูก ควรสัมผัสลูกอย่างอ่อนโยนลูบพุงลูกเบา ๆ หรือลูบผม งานวิจัยค้นพบว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้รับการสัมผัสจะมีขนาดสมองเล็กกว่าปกติ นอกจากนี้ในช่วงเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือ
เปลี่ยนเสื้อผ้า สายตาของเด็กจะอยู่ห่างจากพ่อแม่ประมาณ 12-18 นิ้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการดึงดูดความสนใจเด็กให้ฟังเสียงพ่อแม่พูด

 

7. เลือกของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก

ของเล่นเสริมสมองเด็กควรเป็นของเล่นที่เด็กสำรวจจับต้อง และมีการสนองตอบได้ เช่น ของเล่นประเภทกล่องตุ๊กตาที่หมุนแล้วตุ๊กตาจะโผล่ขึ้นมา หรือบล็อกตัวต่อ ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ความสัมพันธ์ของสาเหตุและผล ถ้าเด็กเรียงบล็อกโดยใช้บล็อกขนาดใหญ่ซ้อนบนบล็อกเล็ก บล็อกใหญ่ที่อยู่ข้างบนจะโค่นลงมา แต่ถ้าเด็กเรียงบล็อกขนาดใหญ่ไว้ข้างล่าง และเอาบล็อกขนาดเล็กวางไว้ข้างบน บล็อกจะไม่โค่น เด็กจะมีประสบการณ์ที่เกิดเป็นข้อมูลจากวงจรการเรียนรู้ทำให้รู้จักคิดหาเหตุผลได้เมื่อโตขึ้น

 

8. ถ้าลูกร้องไห้ต้องตอบสนองให้เหมาะสม

การปลอบ การอุ้ม การให้นมจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นและสร้างวงจรการเรียนรู้เชิงบวกของสมองในส่วนที่ควบคุมอารมณ์ของเด็ก การโอบอุ้มอย่างอ่อนโยน สัมผัสลูกด้วยความรัก และใส่ใจความต้องการของลูกที่พ่อแม่ปฏิบัติอยู่ทุกวัน จะส่งผลโดยตรงต่อสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ ทำให้ลูกมีอารมณ์ดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เปิดโอกาสให้สมองพร้อมจะเรียนรู้

 

9. สร้างความไว้วางใจให้ลูกโดยการดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ

เด็กทารกที่รู้สึกว่าพ่อแม่เอาใจใส่ จะมีความมั่นคงทางจิตใจ รู้ว่าไว้วางใจพ่อแม่ได้เด็กจึงไม่กังวล สามารถใช้พลังงานในการเรียนรู้และสำรวจสิ่งต่าง ๆ เกิดความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว

 

10. นวดร่างกายลูก

การนวดร่างกายลูกจะลดความเครียดในเด็กทารกและเสริมสร้างความรู้สึก สบายใจมีอารมณ์มั่นคง การสัมผัสลูกวัยทารกด้วยความรักจะทำให้เด็กเติบโตไว งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่ได้รับการนวดร่างกายทุกวัน ๆ ละ 3 ครั้ง จะมีร่างกายแข็งแรงพร้อมที่จะออกจากโรงพยาบาลได้ก่อนทารกที่ไม่ได้นวดร่างกาย

 

11. ฝึกลูกให้เรียนรู้การเก็บของเล่นตั้งแต่อยู่ในวัยเตาะแตะ

การฝึกลูกเล็กให้รู้จักเก็บของเข้าที่ เป็นวิธีฝึกการเรียนรู้ของสมองในการจัดประเภทสิ่งต่าง ๆ ลูกในวัยเตาะแตะก็สามารถฝึกให้เก็บของเล่นหรือตุ๊กตาให้เข้าที่ได้ เด็กวัยนี้เริ่มเรียนรู้การจัดประเภท เช่น ที่วางตุ๊กตา ตู้เก็บรถของเล่น หรือเรียงลำดับของจากเล็กสุดไปใหญ่สุด การฝึกให้ลูกเก็บของเป็นระเบียบ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสติปัญญาของลูกก่อนที่จะเข้าเรียนชั้นอนุบาล

 

12. จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยสำหรับลูก

เด็กวัยทารกที่กำลังหัดคลานหรือเดินเตาะแตะ กำลังอยู่ในวัยเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่ ลูกวัยนี้เริ่มจะทำความเข้าใจพื้นที่รอบ ๆ ตัว เช่น ของที่อยู่ข้างใต้ ข้างบน อยู่ใกล้ อยู่ไกล
สมองลูกเริ่มเรียนรู้และสร้างแผนผังของสิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมทั้งทำความเข้าใจเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมรอบตัวกับตัวเด็กเอง

 

13. การร้องเพลง

การร้องเพลงประกอบการเล่นนิ้วมือ จะช่วยให้เด็กเชื่อมโยงเสียงกับการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งกล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็ก การร้องเพลงยังส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้จังหวะ คำสัมผัส คำคล้องจองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ภาษา

 

14. เรียนรู้ธรรมชาติของลูกและปรับจังหวะการเรียนรู้ให้เหมาะสม

เด็กบางคนสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย เด็กบางคนมีนิสัยกล้าชอบทดลองทำ บางคนขี้อาย ไม่กล้า ถ้าลูกขี้อายไม่กล้าทำอะไร พ่อแม่ต้องกระตุ้นให้กำลังใจลูกทีละน้อย และให้ลูกรู้สึกว่าสะดวกใจที่จะลองทำสิ่งที่พ่อแม่ชี้ชวนอย่างสบาย ๆ
ถ้าลูกกล้ามาก ชอบลองทำสิ่งต่างๆ พ่อแม่ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยและควบคุมในระดับที่เหมาะสม การยอมรับของพ่อแม่จะทำให้ลูกสบายใจที่จะทดลองทำสิ่งต่าง ๆ และเรียนรู้อย่างเป็นอิสระ

 

15. จัดช่วงเวลารับประทานอาหารและช่วงพักผ่อนให้เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขสำหรับลูก

ระหว่างที่ลูกรับประทานอาหารให้แนะนำอาหารโดยพูดชื่ออาหารออกมาดัง ๆ ให้ลูกได้ยิน แสดงความพึงพอใจเมื่อลูกกินอาหารเองได้โดยไม่ต้องป้อน แม้ลูกจะกินเลอะเทอะ จะทำให้สมองเกิดวงจรเชื่อมโยงเรื่องการกินอาหารกับความพึงพอใจในความสามารถของตนเอง ทำให้เด็กรู้สึกทางบวก การเคี่ยวเข็ญบังคับเรื่องการกิน – การนอน
จะทำให้สมองลูกเกิดการเรียนรู้ทางอารมณ์ในด้านลบ

 

16. ตอบสนองการกระทำของลูกอย่างมั่นคงสม่ำเสมอ

สมองน้อย ๆ ที่กำลังพัฒนาของลูกอยู่ระหว่างเรียนรู้ทำความเข้าใจโลกรอบตัว พ่อแม่จึงต้องมีความมั่นคง การสนองตอบพฤติกรรมลูกที่เหมาะสมสม่ำเสมอ จะทำให้ลูกคาดเดาได้ เกิดความมั่นใจ และมีการแสดงออกที่เหมาะสมต่อไป

 

17. ใช้วินัยเชิงบวก

การปรับพฤติกรรมลูกให้เหมาะสม ควรใช้วินัยเชิงบวก หมายถึง ไม่ข่มขู่ใช้กำลัง หรือ
ดุด่าให้อับอาย แต่พูดกับลูกพร้อมทั้งแสดงท่าทีให้ลูกรู้ว่าทำตัวไม่เหมาะสม เช่น ถ้าลูกตีเด็กคนอื่น พ่อแม่ควรคุยกับลูกโดยนั่งลงในระดับสายตาลูกใช้เสียงต่ำ น้ำเสียงจริงจัง บอกกฎที่ลูกควรปฏิบัติ เป็นกฎที่ง่าย ๆ มีเหตุผลสมวัยลูก และพ่อแม่ต้องยึดมั่นในกฎนี้ทุกครั้ง อย่าปล่อยให้เด็กรู้สึกว่าทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้

 

18. ฝึกลูกให้เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

พ่อแม่ควรใช้โอกาสที่เป็นสถานการณ์จริงสอนลูก เช่น ถ้าเห็นเด็กคนอื่นร้องไห้ เสียใจ จงสอนลูกวัยเตาะแตะให้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้สึกของคนอื่น ความเอาใจใส่ รู้จักแบ่งปัน
และเมตตาสงสาร ถ้าพ่อแม่ฝึกลูกตั้งแต่เล็ก การสร้างวงจรการเรียนรู้ของสมองจะเชื่อมโยงกันได้ง่าย ลูกจะเติบโตเป็นเด็กที่มีจิตใจดีงาม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

 

19. ลูกเรียนรู้จากการเล่น

พ่อแม่ควรให้ลูกได้เล่นน้ำ ทราย หรือดินเหนียวบ้างจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น คุณสมบัติของวัสดุ พื้นผิว น้ำ/ของเหลว ของแข็ง ระหว่างอาบน้ำให้ลูก วงจรการเรียนรู้ของสมองจะเรียนรู้เรื่องน้ำ สบู่ ความลื่นของสบู่ และผิวสัมผัสที่นุ่มฟูของผ้าขนหนู การฝึกให้ลูกเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสมากๆ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานของสมอง

 

20. แสดงความรัก ความสนใจ และชื่นชมในตัวลูก

พ่อแม่สามารถแสดงความรักลูกด้วยกิริยาท่าทีให้ลูกรู้ รอยยิ้ม นัยน์ตาเป็นประกาย และความใส่ใจในอากัปกิริยาของลูก จะปลูกฝังความรัก ความอ่อนโยนในตัวลูกน้อย ทำให้เติบโตเป็นเด็กอารมณ์ดี เห็นคุณค่าในตัวเอง