พัฒนาการลูกน้อยวัย 11 เดือน

พัฒนาการลูกน้อยวัย 11 เดือน

พัฒนาการลูกน้อยวัย 11 เดือน

 

ลูกสามารถลุกนั่งก้าวเดินได้อย่างมั่นคงขึ้น แต่ก็มีบางครั้งที่อาจจะต้องหาที่เกาะและเหนี่ยวยืนบ้างตามสถานการณ์ และไต่เดินตามขอบโซฟาได้เองอย่างคล่องแคล่วขึ้น บางครั้งก็เด็กน้อยอาจสามารถปล่อยมือ และเดินเองได้ 2-3 ก้าว แต่อาจจะไม่มั่นใจก้าวต่อไปจึงหยุด  ชอบการปีนบันไดแต่ยังไม่รู้ว่าจะถอยลงบันไดอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเด็กน้อยอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยเด็กน้อยไว้ใกล้บันไดตามลำพังเป็นอันขาดลูกอาจได้รับอัตรายจากการตกบันได

สำหรับเด็กบางคนที่เดินช้าหรือยืนไม่มั่นคง อาจจะเป็นเพราะว่าคุณพ่อคุณแม่อุ้มเด็กน้อยบ่อย หรือเมื่อชี้สิ่งที่ต้องการแล้วก็มีคนนำมาให้ถึงมือ ทำให้ลูกไม่มีความจำเป็นต้องลุกหรือพยายามขยับร่างกาย คุณพ่อคุณแม่ต้องปรับพฤติกรรม และฝึกพัฒนาการของลูกด้วยนะคะ

พัฒนการของเด็กน้อยในเดือนที่ 11 นี้เป็นอย่างไรไปดูกันดีกว่าค่ะ

 

พัฒนาการด้านร่างกาย

การควบคุมร่างกายของเด็กน้อยวัยนี้ดีขึ้น เมื่อเด็กน้อยใช้เท้ายืนได้ดีแล้ว ต่อไปเด็กน้อยก็จะใช้มือได้คล่องแล้วค่ะ  แต่อย่างไรแล้วเดือนนี้การยืนยังเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดของเด็กน้อย บางครั้งถึงกับไม่ยอมที่จะนอนหรือนั่งลงเลย คุณพ่อคุณแม่คงเคยต้องจับเด็กน้อยเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือบางครั้งอาจเห็นเด็กน้อยยืนหลับอยู่ในเปล ประสบการณ์การยืนนั้นจะนำเด็กน้อยไปสู่ทักษะอื่น ๆ เช่น การทรงตัว ทักษะการขึ้นลงบรรได

หากลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ยืนหรือเดินได้ช้า อาจมาจากปัญหาที่ข้อต่อในส่วนขาได้ค่ะ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตขา เท้า ของลูกนะคะ ว่าผิดปกติ เช่น บิดเข้าข้างใน ปิดออกข้างนอก ขาโก่ง หรือฝ่าเท้าลูกไม่มีส่วนโค้ง  หากพบให้ปรึกษากุมารแพทย์นะคะ หาทางแก้ไขก่อนที่ลูกจะเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อการเดิน แต่หากไม่พบความผิดปกติ อาจเป็นเพราะว่าลูกมีพัฒนาการการเดินช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ก็ให้โอกาสลูกได้ฝึกฝนสักพักนะคะ

 

 

พัฒนาการด้านสติปัญญาและอารมณ์

วัยนี้เด็กเด็กน้อยนั้นยังสนใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับรูปทรงและผิวสัมผัสของสิ่งของต่างๆ จะทำการสำรวจ   เริ่มแยกแยะ ของต่างๆ ได้ดีขึ้น และจะเริ่มรู้ว่า ของชิ้นเล็กจะสามารถใส่เข้าไปในของชิ้นใหญ่ได้ ขณะที่ของชิ้นใหญ่ จะไม่สามารถใส่เข้าไปในของชิ้นเล็กได้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะตื่นเต้นที่ลูกชอบอ่านหนังสือ ซึ่งจริง ๆ เด็กน้อยนั้นดูหนังสืออยู่ทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้น ให้เด็กเรียนเร็ว โดยการพยายามใช้บัตรตัวอักษร หรือรูปภาพ มาสอนลูกซ้ำๆ เพื่อให้เด็กจำได้  แต่ที่จริงแล้ววัยนี้ลูกยังไม่พร้อม  ขบวนการเรียนรู้ของเด็กน้อยนั้นเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และจะดำเนินไปเอง เมื่อเด็กพร้อม ในช่วงนี้การอ่านหนังสือด้วยกันนั้นจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่ลูก  และเป็นการทำให้เขาคุ้นเคยกับหนังสือและการอ่านเท่านั้นค่ะ

ในวัย 11 เดือนนี้เด็กน้อยมีความสามารถในการเลียนแบบมากขึ้นเรื่อย ๆ  และแสดงพฤติกรรมตามอย่างที่เคยเห็นได้อย่างฉลาด ผ่านจากการเลียนแบบนี่แหละค่ะ  ที่หนูน้อยจะได้เรียนรู้การพูด เด็กน้อยจะลอกเรียนแบบเสียง จังหวะการพูดของคุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งการแสดงสีหน้าบ่งบอกอารมณ์ หรือล้อเรียนเสียงต่าง ๆ ที่เด็กน้อยได้ยิน  น่ารักน่าขำมากเลยใช่มั๊ยค่ะ คุณพ่อคุณแม่ เป็นตัวอย่างให้ลูกทำสิ่งดีๆ แล้วลูกจะเรียนรู้โดยอัตโนมัติ ในแบบที่ไม่ต้องพูด หรือสอนเลยค่ะ  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือนิสัยรักการอ่าน ส่วนหนึ่งเกิดจากพ่อแม่เป็นแบบอย่าง เช่น เวลาอยู่บ้านว่างๆ  ก็จะหยิบหนังสือมาอ่าน ชอบที่จะอ่านนิทานให้ลูกฟัง พูดคุยกับลูกถึงเรื่องในหนังสือที่อ่าน  ทำบ่อยๆ แบบนี้ลูกก็มักจะติดนิสัยรักการอ่านหนังสือไปโดยไม่รู้ตัว

 

 

พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคม

วัยนี้เป็นวัยที่ทุกเทพลังงานและความสนใจไปที่การเข้าสังคมมากที่สุด พฤติกรรมนั้นยังคงเป็นการเลียนแบบ เด็กน้อยจะพยายามเรียนรู้ให้ได้ว่าคนทั้งหลายเขาอยู่กันอย่างไร รวมทั้งเข้าใจการยอมรับและไม่ยอมรับมากขึ้น และจะเป็นวัยที่ติดแม่มาก แสดงให้แม่เห็นว่าเด็กน้อยต้องการการยอมรับจากแม่ พยายามให้แม่หันมาสนใจบางทีก็ใช้วิธีการชักชวน บางทีก็ประท้วง หรือบางทีก็เชื่อฟังคำสั่ง เด็กน้อยจะรู้จักหลีกเลี่ยงการกระทำที่คนอื่นไม่เห็นด้วย แต่จะพยายามทำให้คนอื่นยอมรับ นอกจากนั้นแล้วในวัยนี้เด็กน้อยรู้จักความหมายของคำว่า “ไม่” ดีแล้วค่ะ จะรู้สึกษาผิดหากทำอะไรผิด จะมีการลองเล่นเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ๆ

เด็ก ๆ นั้นต้องการความรักเพื่อจะดำรงชีวิตและเรียนรู้โลกกว้าง ความรัก ความเอาใจใส่ และการชื่นชม ที่ลูกน้อยได้รับจะเป็นพลังให้ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ความรู้สึกของเด็กน้อย เติบโตขึ้นอย่างมั่นคงในอนาคต ช่วงนี้ลูกยังต้องการการโอบกอด  การหอมแก้ม และการอยู่ใกล้คุณพ่อคุณแม่  การได้เล่นกับคุณพ่อคุณแม่ ไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้ลูกติดคุณพ่อคุณแม่ และเสียนิสัยนะคะ  แต่เด็กน้อยกลับจะได้เรียนรู้ผ่านทางการเล่น  และการทำซ้ำๆ จนเกิดความชำนาญ บนพื้นฐานของความรัก ความเอาใจใส่ ที่คุณพ่อคุณแม่ให้กับเขา