พัฒนาการลูกน้อยวัย 8 เดือน

พัฒนาการลูกน้อยวัย 8 เดือน

พัฒนาการลูกน้อยวัย 8 เดือน

ก้าวย่างเข้าเดือนที่ 8 แล้วนะคะ  เดือนนี้เป็นเดือนที่เด็กน้อยกลายเป็นนักสำรวจตัวน้อย  เด็กจะคลานสำรวจของรื้อของทั่วบ้านเลยค่ะ ชอบทดลองทำอะไรหลายอย่าง  มีความสนใจวัตถุต่าง ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวอยู่รอบตัว  คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นพัฒนาการของลูกชัดเจนในเรื่องการนั่ง การคลาน และการยืน  ลูกสามารถนั่งเองได้แล้วโดยไม่ต้องพิงสิ่งของ  และบางครั้งคุณพ่อคุณแม่จะเห็นเด็กน้อยนั่งเล่นอยู่ดี ๆ  ก็เปลี่ยนเป็นท่าคลานเอาเสียดื้อ ๆ  บางคนก็อาจทำได้ถึงสามารถเกาะสิ่งใกล้ตัวลุกขึ้นยืนได้  ในช่วงวัยนี้คุณพ่อคุณแม่ควรต้องดูแลบริเวณรอบ ๆ ภายในบ้านที่ลูกคลานเล่นให้สะอาดเรียบร้อย เก็บของที่เป็นอันตราต่อลูกน้อยให้เข้าที่เข้าทาง ไม่ให้เป็นอันตรายต่อลูก   และหากลูกเหนี่ยวตัวขึ้นยืนต้องระวังสิ่งของที่อาจล้มทับลูกด้วยนะคะ

สำหรับเดือนที่ 8 นี้อาหารเสริมที่ช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารและพลังงานในช่วงนี้อาจจะให้ลูกได้รับประทานได้ถึง 2-3 มื้อต่อวัน  แต่นมก็ยังเป็นอาหารหลักที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันที่ลูกต้องการอยู่นะคะ  เพียงแต่ลูกน้อยจะลดความอยากกินนมแม่ลง หันมากินอาหารเสริมเมื่อหิวแทน

 

สำหรับพัฒนาการของลูกวัย  8  เดือน เป็นอย่างไรบ้างนั้น คุณพ่อคุณแม่ลองตามมาดูรายละเอียดกันดังนี้นะคะ

พัฒนาการด้านร่างกาย

ในเดือนที่ 8 นี้สรีระของเด็กน้อยนั้นจะมีศีรษะใหญ่กว่าร่างกายอยู่ค่ะ เลาลูกนั่งจะทำให้หงายหรือคว่ำได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่ควรเสริมเรื่องพื้นเพื่อป้อง เด็กน้อยจะนั่งหลังตรงโดยลำพังได้นานขึ้น ขณะนั่งขาข้างหนึ่งเหยียดออกอีกข้างหนึ่งจะงอในท่าพักดูแล้วน่ารักน่าชังมากเลยใช่มั๊ยคะ  แล้วเด็กน้อยยังสามารถลุกขึ้นนั่งเองได้จากการยันแขนขึ้นหรือจากท่าคลาน   อย่างไรก็ดีเด็กน้อยจะรู้จักพยุงตัวขึ้นยืนได้ แต่ยังไม่รู้จักหย่อนตัวลงนั่ง ท่านี้อยากไม่น้อยสำหรับ
เด็กน้อยค่ะ  อาจต้องใช้เวลาฝึกฝนอยู่นานหลายอาทิตย์  คุณพ่อคุณแม่หาพรมหรือผ้าห่มหนา ๆ มาปูไว้ลูกจะได้ล้มอย่างนุ่มนวลหน่อยด้วยนะคะ   ในวัยนี้ลูกจะตื่นเต้นกับความสามารถใหม่ของตน และจะชอบคลานสำรวจสิ่งต่าง ๆ  รอบตัวด้วยความอยากรู้อยากลอง  คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยพัฒนาการของกล้ามเนื้อและเติมความคิดสร้างสรรค์ของลูกได้โดยการให้ลูกหัดนั่ง รวมถึงคลานไปหาสิ่งของต่าง ๆ  เล่นจ๊ะเอ๋  หัดให้ลูกหยิบของเล็ก ๆ ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ หรือจะเป็นการให้ลูกเล่นบล็อกไม้รูปทรงต่าง ๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ลูกได้เคลื่อนที่บนพื้นผิวที่หลากหลาย  เช่น บนพื้นเปล่าๆ บนเสื่อ  บนพรม  จะเป็นการช่วยให้สมองของลูกได้เรียนรู้ประสาทสัมผัสที่แตกต่างกันด้วยคะ

 

พัฒนาการด้านสติปัญญาและอารมณ์

ในวัยนี้ลูกน้อยจะเรียนรู้ที่จะสร้างเสียงด้วยตนเอง  ส่วนหนึ่งเป็นผลการการเรียนรู้และฝึกฝนออกเสียงและพยายามเลียนแบบวิธีการพูดจากคุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้างตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เดือนนี้เด็กน้อยมักจะพูดคำซ้ำๆ กัน เช่น มามา ปะปะ เวลาเล่นคนเดียวก็จะชอบออกเสียงพึมพำ ดูเหมือนพูดบ่นอยู่คนเดียว และบางครั้งก็ส่งเสียงดังเหมือนตะโกนขึ้นมาซะอย่างนั้น  เด็กน้อยมีการพัฒนาการของสมองซับซ้อนมากขึ้น เริ่มมีการนึกภาพในใจมากขึ้น ความสามารถในการนึกภาพในใจของลูกนั้นสำคัญมากนะคะ  เพราะมันเป็นการแสดงถึงสติปัญญาของลูกน้อยได้รับการพัฒนาดี นั่นหมายถึงว่าคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูก ให้การตอบสนองต่อความต้องการของลูกได้อย่างเหมาะสม และสิ่งที่ช่วยให้ลูกเรียนรู้การนึกภาพในใจได้ดีคือการที่พ่อแม่มองตาสบตากับลูกเสมอ ๆ  เด็กน้อยจะมีจิตนาการมากขึ้น  และช่วงวัยนี้ แม้จะไม่เข้าใจคำศัพท์  แต่ก็เริ่มอ่านอารมณ์ออกแล้วนะคะ   เริ่มจับความรู้สึกจากน้ำเสียงได้ค่ะ  คุณพ่อคุณแม่เล่นกับลูก และออกเสียงใหม่ ๆ ให้ลูกเลียนเสียงตาม เช่น มามา ปาปา หม่ำหม่ำ ด้วยน้ำเสียงที่น่าฟังนะคะ

อีกสิ่งหนึ่งที่เด็กน้อยวัย 8 เดือนชอบทำมาก ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือชอบมองภาพกลับหัว เชื่อว่าเป็นเพราะลูกติดการมองแบบนี้ตั้งแต่เป็นทารกตัวน้อยๆ ที่หลายเดือนที่ผ่านมาลูกได้แต่นอนอยู่บนที่นอนก็อาจจะยังนึกถึงอยู่บ้างแหละค่ะ  ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจหาภาพมาติดกลับหัวไว้ที่เตียงให้ลูกมองเล่น

 

พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคม

เด็กน้อยวัยนี้จะเริ่มกลัวคนแปลกหน้า ติดคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดู การส่งเสริมพัฒนาการในวัยนี้ นั้นคุณพ่อคุณแม่ควรอุ้มเด็กน้อยไปพบปะผู้อื่น ๆ บ่อยครั้งขึ้น เพื่อให้รู้สึกอุ่นใจและไม่กลัวคนแปลกหน้า  รวมถึงการบอกสิ่งที่กำลังทำให้เด็กน้อยได้รับรู้ พูดคุยเรียกชื่อเด็กน้อยเพื่อให้รู้จักชื่อตนเอง สอนให้รู้จัก พ่อ แม่ และบอกชื่อสิ่งของต่างๆ โดยการพูดให้เด็กน้อยฟังช้าๆ ชัดเจน และบ่อยๆ  กระตุ้นให้เด็กน้อยมองปาก ในวัยนี้ลูกจะติดคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำโทษลูกเมื่อลูกกล้วหรือติดคุณพ่อคุณแม่นะคะ แต่ควรพูดคุยด้วยน้ำเสียงเบาแต่หนักแน่น สร้างความมั่นใจให้ลูกน้อย ลูกน้อยจะมีความรู้สึกปลอดภัย และมีความมั่นคงทางอารมณ์

การให้ความรักกับลูกน้อยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และไม่เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่จะให้ความรักกับลูกน้อยเท่านั้นนะคะ คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงออกอย่างเหมาะสมให้ลูกเห็น อาจเป็นการยิ้มให้ การพูดคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใส การสัมผัส การกอด หรืออาจเป็นการอุ้มลูกด้วยความนุ่มนวล  สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภาษากายที่บ่งบอกถึงความรักของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อต่อลูกน้อยได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่น มีความมั่นคงทางจิตใจ และส่งผลต่อพัฒนาการทั้งด้านอารมณ์และสติปัญญาของลูกน้อยอย่างยิ่ง