พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 4

พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 4

พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 4

เมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในเดือนที่ 4  ซึ่งเป็นไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์  ทารกจะเริ่มมีขนาดและรูปร่างที่โตขึ้นพร้อมกับความเป็นแม่ที่เพิ่มมากขึ้นของคุณแม่ด้วยจริงมั้ยคะ  ในเดือนนี้คุณแม่จะมีรูปร่างที่เป็นคนท้องอย่างเห็นได้ชัด  แต่จะเป็นคนท้องที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความสดชื่นเพราะอาการแพ้ท้องได้ลดลงแล้ว  จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ช้อปปิ้งเสื้อผ้าสำหรับคนท้อง  หรือชุดคลุมท้องใหม่ๆสวยๆเพื่อความสบายใจ  รวมถึงการช้อปปิ้งสินค้าเพื่อลูกรักที่กำลังจะลืมตาดูโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าด้วยนะคะ

 

พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ เดือนที่ 4

ในเดือนที่สี่นี้ลูกน้อยจะเริ่มมีขนอ่อนๆขึ้นทั่วทั้งตัวและใบหน้า โดยขนอ่อนนี้มีชื่อเรียกว่า  “ลานูโก”(Lanugo)  และเริ่มสังเกตเห็นว่ามีขนคิ้วขนตาขึ้นมาด้วย  ในตอนนี้ลุกน้อยจะมีลำตัวยาวประมาณ 16 ซม.  และมีน้ำหนักประมาณ 135 กรัม  โดยจะมีผิวหนังที่บางและใสจนมองเห็นเส้นเลือดได้อย่างชัดเจน  ภายในร่างกายเริ่มมีการสร้างกระดูกรวมถึงข้อต่อต่างๆขึ้นมาเพื่อรองรับขนาดตัวที่จะใหญ่ขึ้นในอนาคต  จะเห็นได้ชัดว่ามีคอ เริ่มมีลายนิ้วมือปรากฏ  และในเดือนที่สี่นี้เป็นเดือนที่น่าตื่นเต้นอีกเดือนหนึ่ง  เนื่องจากอวัยวะเพศเจริญเติบโตขึ้นมากจนสามารถบอกเพสของทารกได้แล้วว่าเป็นหญิงหรือชาย  แต่ทั้งนี้อาจไม่สามารถบอกได้ทุกคนเนื่องจากบางครั้งแขนขาของทารกก็เข้ามาบังในส่วนของอวัยวะทำให้มองไม่เห็นค่ะ   แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถขอให้คุณหมอดูเพศของลูกให้ได้ถ้าต้องการในคราวต่อไปจึงไม่ต้องกังวลนะคะ  นอกจากนี้ในช่วงเดือนที่สี่ปอดของลูกจะเริ่มขยับตัวเหมือนว่าหายใจเพื่อเตรียมตัวที่จะใช้หายใจด้วยตนเองจริงๆเมื่อหลังคลอด  และที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในเดือนนี้คือทารกจะสามารถดูดนิ้วมือตนเองได้  แถมยังชอบที่จะดูดอีกด้วยค่ะ  มาถึงอัตราการเต้นของหัวใจ  ในตอนนี้ทารกจะมีอัตราการเต้นของหัวใจมากเป็นสองเท่าของผู้ใหญ่  และอย่าลืมว่าหูของลูกได้ยินแล้วถึงแม้ยังมีการพัฒนาได้ไม่เต็มที่ก็ตาม  ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงอย่าลืมที่จะพูดคุยกันกับลูกเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีร่วมกัน  เป็นเวลาคุณภาพของครอบครัว  ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูก  รวมทั้งเป็นการสร้างเสริมกำลังใจแก่คุณแม่ด้วยนะคะ

 

พัฒนาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 4

หลังจากนี้ไปแพทย์จะนัดพบเป็นระยะๆเพื่อตรวจดูพัฒนาการในครรภ์ของทารกว่ามีความผิดปกติใดๆหรือไม่   และให้ตรวจเลือดเพื่อค้นหาความผิดปกติในการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภาวะแท้งบุตร ภาวะครรภ์เป็นพิษ   รวมถึงตรวจดูด้วยว่าสุขภาพของคุณแม่เป็นอย่างไรเพื่อประกอบการวินิจฉัยในการตรวจรักษา  การสั่งจ่ายยา  วิตามินแร่ธาตุต่างๆ  เช่น  เหล็ก  แคลเซียม  โฟลิค  รวมถึงการทำความเข้าใจกับคุณแม่ในเรื่องต่างๆเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของคุณแม่อีกด้วย ในช่วงเวลานี้คุณแม่เองยังคงต้องรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ  และงดรับประทานขนมหรือผลไม้หวานๆเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่  สุขภาพโดยรวมในเดือนนี้ของคุณแม่จะไม่น่ากังวลแล้วค่ะ  คุณแม่จะรู้สึกดีขึ้นเพราะอาการแพ้ลดลง  มีแต่ความสุขและความตื่นเต้นที่จะได้เห็นหน้าลูกในเวลาอันใกล้  ทางด้านความเปลี่ยนแปลงของร่างกายนั้นจะเห็นได้ชัดว่าขนาดของเต้านมนั้นใหญ่ขึ้น  ที่ลานนมและหัวนมจะมีสีที่เข้มขึ้น  มีเส้นสีเข้มขึ้นกึ่งกลางลำตัวยาวลงไปและจะจางลงเมื่อคลอดบุตร  และที่สำคัญหากคุณแม่ท่านใดไม่อยากใส่ชุดคลุมท้องเดือนนี้อาจเป็นเดือนสุดท้ายที่ยังจะใส่เสื้อผ้าขนาดเดิมได้ถึงแม้ว่าอาจจะรู้สึกคับไปสักหน่อย  เพราะพุงเริ่มป่องออก  และเอวเริ่มจะหายไป  ดังนั้นถ้าหากรู้สึกอึดอัดจึงควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่หลวมสบาย  และไม่อับชื้น  ในเรื่องของน้ำหนักในไตรมาสนี้รวมๆแล้วควรขึ้นราวๆ 5-7 กิโล  หรือคิดเป็น 50% ของน้ำหนักที่ควรขึ้นตลอดการตั้งครรภ์

 

การดูแลคุณแม่ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 4

ในช่วงเดือนนี้ทารกจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากค่ะ  ดังนั้นคุณแม่คนใหม่จึงควรรับประทานให้มากขึ้น  แต่ให้เน้นโปรตีนเป็นหลัก  ในส่วนของคาร์โบไฮเดรตให้เลือกที่มีใยอาหารสูงเพื่อช่วยในการขับถ่าย  ลดอาหารประเภทที่หวานจัดเค็มจัดและมันจัด  งดอาหารหมักดองและทอด  รวมถึงงดชา  กาแฟ  เครื่องดื่มแอลกอฮอลด้วย  เนื่องจากอาหารต้องห้ามเหล่านี้มีส่วนที่จะก่อให้เกิดภาวะเบาหวาน  ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะครรภ์เป็นพิษที่สามารถทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นแท้งบุตร  และเสียชีวิตในครรภ์ของบุตร  รวมถึงเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับตัวคุณแม่เองด้วย

 

ข้อควรระวังของคุณแม่ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 4

การดูแลคุณแม่ในช่วงเดือนที่สี่นี้จะเหมือนๆกับช่วงเดือนที่ผ่านๆมาค่ะ  เพียงแต่ในเดือนนี้จะเริ่มเข้าสู่ภาวะ  “พุงยื่น” แล้ว  ดังนั้นตัวคุณแม่เองอาจจะยังไม่ชินกับการที่ตัวเองมีพุงยื่นออกมาด้านหน้า  จึงอาจมีเหตุให้ไม่ทันระวังตัวทำให้ท้องไปชนโน่นชนนี่ได้โดยง่ายหากไม่ทันได้ระวังค่ะ  ดังนั้นถ้าคุณแม่คนไหนยังไม่ได้ใส่ชุดคลุมท้องล่ะก็  เมื่อเข้าสู่เดือนนี้ขอแนะนำเลยว่าควรเริ่มใส่ได้แล้วค่ะ  เพื่อเป็นการเตือนตัวเองว่า  “ฉันท้องอยู่นะ”  “ฉันกำลังมีลูกนะ”  “ลูกของฉันอยู่ข้างในจะต้องระวังให้มากนะ”  เพื่อให้คุณแม่ระวังตัวมากขึ้น  และคนรอบตัวก็จะได้ระวังระไวคุณแม่ให้มากยิ่งขึ้นเช่นกันค่ะ