พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 2

พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 2

ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 2 แล้วนะคะ  เป็นอย่างไรกันบ้างคะคุณแม่  ในช่วงเดือนนี้คือสัปดาห์ที่ 4-8 ของการตั้งครรภ์คุณแม่อาจจะต้องอดทนกับอาการ “แพ้ท้อง” ที่มากเป็นพิเศษกว่าช่วงไหนๆของการตั้งครรภ์  เพราะมีทั้งอาการคลื่นไส้  อาเจียน  เวียนหัว  หงุดหงิด  อารมณ์ไม่ดี  ขี้ใจน้อย  น้ำตาไหลง่าย  อารมณ์แปรปรวนเป็นเรื่องปกติของคนตั้งครรภ์ในช่วงเวลานี้ และจะมีอาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆตามอายุครรภ์ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น  คุณแม่ในช่วงนี้จึงจำเป็นจะต้องพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อความสมบูรณ์ของลูกน้อยในครรภ์ค่ะ

 

พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ เดือนที่ 2

ในช่วงที่เข้าสู่เดือนที่สองนี้ตัวอ่อนจะมีการพัฒนาในทุกๆด้านอย่างรวดเร็วเลยล่ะค่ะ  ดังนั้นการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ  หรือแม้แต่การรับสารพิษไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม  ล้วนมีส่วนที่จะก่อให้เกิดความพิการแก่ทารกได้ทั้งสิ้น  หรือถ้าหากในกรณีที่รุนแรงอาจถึงขั้นแท้งบุตรได้ค่ะ  ที่สำคัญเมื่อเข้าสู่ในช่วงนี้แล้วคุณแม่ส่วนใหญ่จะทราบแล้วล่ะค่ะว่าตัวเองตั้งครรภ์  ดังนั้นจึงควรรีบไปฝากครรภ์เสียแต่เนิ่นๆ  ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกในท้องค่ะ

ในระยะนี้ขนาดของเจ้าตัวเล็กที่อยู่ในครรภ์ในช่วงสัปดาห์ท้ายของเดือนจะมีขนาด 1/4 นิ้ว  หรือประมาณเมล็ดข้าวสารค่ะ  เล็กมากๆเลยใช่ไหมล่ะคะ   แต่เห็นเล็กๆแบบนี้เจ้าตัวน้อยนี่จิ๋วแต่แจ๋วค่ะเพราะว่าหัวใจของเค้าจะเริ่มเต้นให้เราได้ยินในสัปดาห์ที่ 6-7 ของการตั้งครรภ์  ซึ่งก็คือช่วงนี้แหละค่ะ  โดยจะเต้นถี่ราวๆ 800 ครั้งต่อนาที  เร็วมากๆเลยใช่ไหมล่ะคะ  ถ้าคุณหมอทำการอัลตราซาวน์คุณแม่กับคุณพ่อก็จะได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจดวงน้อยๆของเจ้าตัวเล็กได้ในช่วงเดือนนี้ล่ะค่ะ  นอกจากนี้เค้ายังมีพัฒนาการทางด้านร่างกายอย่างอื่นๆอีกมากมายด้วย  ได้แก่  ส่วนหัวที่เจริญเติบโตเห็นได้ชัดเจนขึ้น  แนวกระดูกสันหลังที่โค้งจนเห็นได้ชัด  รวมถึงระบบประสาทที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว  และระบบเลือดด้วย  คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารให้เต็มที่ไม่ต้องกลัวอ้วน  คุณแม่ต้องรับประทานให้มากขึ้นเน้นอาหารที่ให้สารอาหารเพื่อนำไปเสริมสร้างร่างกายของทารกในครรภ์คือโปรตีนมากเป็นพิเศษ แต่ต้องไม่ลืมรับประทานอาหารที่หลากหลายและครบทั้ง 5 หมู่ด้วย  และต้องไม่ลืมดื่มนมเพื่อเพิ่มแคลเซียมให้กับตนเองรวมถึงบำรุงไปถึงในครรภ์ด้วย  ที่สำคัญเมื่อไปฝากครรภ์กับคุณหมอ  คุณแม่จะได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น  ได้แก่  โฟเลต ธาตุเหล็ก แคลเซียม เพื่อมาเสริมทัพในกรณีที่คุณแม่รับประทานอาหารที่ได้สารเหล่านี้ไม่เพียงพอ  โดยเฉพาะโฟเลตที่มีส่วนช่วยให้ลูกเกิดมาไม่มีความพิการประเภทปากแหว่งเพดานโหว่อีกด้วยค่ะ  นอกจากนี้คุณแม่ทราบหรือไม่คะว่าในเดือนที่สองนี้ทารกจะมีฮอร์โมนเพศที่เป็นตัวแบ่งแยกเพศปล่อยออกมา ถึงแม้ว่าเพศของเด็กจะถูกกำหนดไว้ตั้งแต่เกิดการปฏิสนธิ นอกจากนี้ช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่มีการพัฒนาอวัยวะเพศของทารกอีกด้วย

 

พัฒนาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 2

ในช่วงนี้คุณแม่จะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสูง  จึงจะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากทั้งร่างกายและจิตใจ ในส่วนของจิตใจนั้นคุณแม่จะเริ่มสังเกตได้ว่าตนเองมีอารมณ์แปรปรวนขึ้นลงง่ายกว่าปกติ   บางทีก็ยิ้มหัวเราะร่าเริงดี  แต่จู่ๆก็อาจจะหงุดหงิดหรือถึงขั้นร้องไห้ออกมา ซึ่งบางครั้งก็ไม่สามารถควบคุมอารมณ์เหล่านั้นได้  แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ  เพราะว่าอาการเหล่านี้จะค่อยลดน้อยลงไปเรื่อยๆและส่วนมากจะสิ้นสุดที่สัปดาห์ที่ 14 ของการตั้งครรภ์  ซึ่งทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขก็คือให้คุณพ่ออยู่ใกล้ๆคอยเป็นกำลังใจให้คุณแม่  โดยที่คุณแม่อย่าลืมว่าตนเองกำลังจะเป็นแม่คนแล้วนะ จะต้องเข้มแข็งและดูแลตัวเองให้ดีเพื่อลูกน้อยในครรภ์ด้วย  ในส่วนทางด้านร่างกายนั้นในเดือนนี้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายและเห็นได้ชัด  ไม่ว่าจะเป็นหน้าอกที่เริ่มโตขึ้นเนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ต่อมน้ำนมเริ่มทำงาน  จึงมีอาการคัดตึงปวดที่เต้านม   รวมทั้งมีน้ำหนักที่เริ่มเพิ่มขึ้น  หัวนมคล้ำลง  เสื้อผ้าเริ่มคับจนรู้สึกอึดอัด  มีอาการแพ้ท้องประเภทคลื่นไส้ อาเจียน อีกทั้งยังเหนื่อยง่าย  และอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งควรไปพบแพทย์

นอกจากนี้คุณแม่ยังจะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยๆ  ด้วยเป็นผลพวกของการที่ฮอร์โมนในร่างกายสูงขึ้นทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัวลงซึ่งมีส่วนทำให้กระเพาะปัสสาวะซึ่งเป็นกล้ามเนื้อเรียบเช่นกันมีการคลายตัว  คุณแม่จึงต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นในช่วงนี้  จึงไม่ต้องกังวลใจไปว่าเรามีความผิดปกติหรือไม่นะคะ  อีกทั้งช่วงนี้ร่างกายของคุณแม่จะอ่อนเพลียมากเป็นพิเศษ  และง่วงนอนมากเช่นกัน  จึงควรหาโอกาสที่นอนพักผ่อนด้วยโดยต้องนอนให้ได้อย่างน้อยคืนละ 8 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่  เพื่อความสดชื่นกายและสบายใจของตัวคุณแม่เอง  ที่สำคัญการพักผ่อนที่เพียงพอนี้ยังมีส่วนช่วยให้คุณแม่มีอาการแพ้ท้องลดลงด้วย  แต่ถ้าหากอาการแพ้ท้องไม่ดีขึ้น  มีอาการน้ำลายไหลที่ปากตลอดเวลา  แนะนำให้คุณแม่พกขนมปังกรอบประเภทแครกเกอร์เอาไว้ติดตัวอยู่เสมอ  เมื่อมีอาการคลื่นไส้ให้เคี้ยวแครกเกอร์นี้  ก็จะช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการตั้งครรภ์นี้ได้เป็นอย่างดี

 

การดูแลคุณแม่ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 2

ในช่วงเดือนที่ 2 นี้สิ่งที่คุณแม่ควรทำให้มากที่สุดก็คือการนอน  เพราะเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายที่ต้องการจะให้คุณแม่และทารกในครรภ์ปลอดภัยมากที่สุด  ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่คุณแม่มีอาการง่วงและอยากนอนตลอดเวลา  หากมีอาการดังกล่าวและสามารถหลบได้ควรหาโอกาสในการนอนไม่ควรมีข้อโต้แย้งใดๆเพราะเป็นการที่ร่างกายแสดงออกแล้วว่าต้องการพักผ่อน ซึ่งสภาวะเช่นนี้คนใกล้ชิดควรอยู่ใกล้คอยให้กำลังใจแก่คุณแม่ให้มาก  และไม่ควรให้คุณแม่มีความเครียดเพราะจะส่งผลไปถึงอารมณ์ของลูกน้อยได้

 

ข้อควรระวังของคุณแม่ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 2

ในระยะนี้เป็นระยะอันตรายสำหรับการตั้งครรภ์เพราะยังถือว่าเป็นช่วง “ท้องอ่อนๆ”  ห้ามคุณแม่ทำงานหนักเกินกำลังเด็ดขาด  งดการออกแรงแม้แต่จะเป็นการออกกำลังกายประเภทหนักลงทุกประเภท  แต่ควรออกกำลังกายเบาๆเพื่อลดอาการท้องผูกเนื่องจากการนอนมากเกินไป  และดื่มน้ำให้เพียงพอและสม่ำเสมอมิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดริดสีดวงทวารได้ค่ะ  ลดความเครียดด้วยการทำจิตใจให้เบิกบานและหลีกเลี่ยงการนอนดึกเพราะจะทำให้เกิดอาการแพ้ท้องมากยิ่งขึ้น   ไม่รับประทานอาหารประเภททอด  หรือมีไขมันมากเกินไปรวมทั้งงดอาหารที่เป็นประเภทของหมักดอง  งดการดื่มชา  กาแฟ  เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด  รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้แหล่งที่มีอากาศเป็นพิษด้วย