พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 1

 
พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 1
 

ก่อนที่จะกล่าวถึงพัฒนาการของลูกน้อยอายุ 1 เดือนแรกในครรภ์  คงต้องขอแสดงความยินดีกับการที่ได้เป็นว่าที่คุณแม่คนใหม่ของคุณแม่ทุกๆท่านกันก่อนเลยนะคะ   การมีลูกถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของผู้หญิงอย่างเราเลยทีเดียวล่ะค่ะ  และในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นี้คุณแม่เองจะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก   โดยเฉพาะเรื่องฮอร์โมนต่างๆ  จึงมีส่วนทำให้มีอารมณ์ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็ว   ดังนั้นพัฒนาการของทารกที่จะเกิดขึ้นในหนึ่งเดือนนี้ล้วนมีผลพวงมาจากคุณแม่ทั้งสิ้น  เราลองมาดูกันนะคะว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง

 

พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ เดือนที่ 1

ในสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์หลังจากมีการปฏิสนธิของไข่จากคุณแม่กับอสุจิของคุณพ่อแล้ว   จะก่อให้เกิดเซลล์ที่จะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนของทารกในครรภ์ทันทีค่ะ  โดยช่วง 5-7 วันแรกจะมีลักษณะคล้ายวุ้นใสๆและฝังตัวอยู่ในผนังมดลูก   จากนั้นไข่ที่ได้รับการผสมแล้วนี้จะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว    จากเซลล์หนึ่งเซลล์เป็นหลายๆเซลล์ด้วยวิธีการแบ่งตัว   จากนั้นเซลล์หนึ่งเซลล์นี้จะแบ่งตัวออกเป็นสองเซลล์และแบ่งต่อไปเรื่อยๆในลักษณะทวีคูณ    หรือเป็นสองเท่าทุกครั้งจนกระทั่งเป็นตัวอ่อนทารก  ซึ่งเซลล์ที่แบ่งตัวนี้จะแยกออกเป็นสองส่วนที่ชัดเจนคือ  ส่วนหนึ่งจะแบ่งออกไปเพื่อทำหน้าที่เป็นรก  ถุงน้ำคร่ำ (amniotic sac)  สายสะดือเพื่อเป็นเหมือนบ้านอันแสนอบอุ่น  รวมถึงป้องกันอันตรายให้แก่ตัวอ่อนตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์  และจะมีส่วนหนึ่งของรกที่ลักษณะเหมือนนิ้วมือเชื่อมต่อกับสายสะดือนั้นยืดออกไปเพื่อยึดเกาะกับผนังมดลูกอย่างแน่นหนา   ทั้งนี้เพื่อที่จะได้สามารถลำเลียงและแลกเปลี่ยนระหว่างอาหารกับของเสียระหว่างแม่และทารกนั่นเอง   ต่อจากนั้นเมื่อล่วงเข้าสัปดาห์ที่ 2 และ 3  ตัวอ่อนของทารกจะมีการเจริญเติบโตของกระดูกสันหลังรวมถึงมีการสร้างเส้นประสาทในแนวของประสาทไขสันหลังควบคู่กันไปด้วย   สิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นว่ากระดูกไขสันหลังเป็นอวัยวะที่สำคัญของมนุษย์  และการเจริญเติบโตของทารกนั้นจะเริ่มจากแกนในสุดแล้วจึงขยายออกสู่ส่วนประกอบอื่นๆในเวลาต่อมา  จากนั้นเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 ของการตั้งครรภ์  ตัวอ่อนจะมีการแบ่งเซลล์มากขึ้นและซับซ้อนขึ้นไปในอีก 3 ระดับ (germ layers)  ได้แก่  เซลล์ชั้นนอกสุด หรือ เอ็กโทเดิร์ม (ectoderm) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสมอง ระบบประสาทกลาง  เลนส์ตา และผิวหนัง เซลล์ชั้นกลาง หรือ เมโซเดิร์ม (mesoderm) จะเจริญเป็นโครงกระดูก  กล้ามเนื้อโครงร่าง หัวใจ  และระบบเลือด  และชั้นสุดท้ายคือ ชั้นในสุด หรือ เอนโดเดิร์ม (endoderm) จะเจริญเป็นอวัยวะในทางเดินอาหาร  ตับ  ตับอ่อน  ปอด กระเพาะ ลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ  เป็นต้น  เมื่อถึงช่วงเวลานี้ตัวอ่อนของทารกจะมีขนาดประมาณ 1/4 นิ้ว

 

พัฒนาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 1

ส่วนใหญ่แล้วในระยะ 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์  คุณแม่ส่วนใหญ่จะยังไม่ทราบว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์เพราะแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากปกติเลย  ส่วนใหญ่จะมาทราบว่าตั้งครรภ์เมื่อเข้าสู่ 6 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์แล้ว  ยกเว้นในกรณีที่คุณแม่ท่านนั้นจดบันทึกการมาของประจำเดือนครั้งสุดท้ายเอาไว้  และคุณแม่เองเป็นคนที่มีประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถคาดเดาหลังจากที่ประจำเดือนขาดไปได้เลยว่าตนเองตั้งครรภ์แน่นอน   โดยที่ยังไม่มีสัญญาณของการตั้งครรภ์  แต่อันที่จริงแล้วในระยะ1เดือนแรกของการตั้งครรภ์ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งฮอร์โมนนี้จะส่งผลให้คุณแม่มีอาการคล้ายกับการมาของประจำเดือนแต่จะมีอาการมากกว่า  กล่าวคือคัดหน้าอก  คลื่นไส้  อาเจียน  ท้องอืด  และปัสสาวะบ่อยขึ้น  มีเส้นเลือดมาเลี้ยงที่เต้านมมากขึ้นจนอาจเห็นเป็นแนวเส้นเลือดจางๆที่เต้านม  รวมถึงจะมีอาการอ่อนเพลีย  ง่วงหงาวหาวนอนในบางคนด้วย  ซึ่งอาการทั้งหลายที่กล่าวมานี้อาจจะไม่เกิดขึ้นกับคุณแม่ทุกคน  หรืออาจเกิดบ้างหรือทั้งหมดสำหรับคุณแม่บางคนก็เป็นได้ โดยเฉพาะสภาวะทางด้านอารมณ์ของคุณแม่ซึ่งอาจจะอ่อนไหวกว่าปกติเป็นพิเศษ  ไม่ว่าจะมีความวิตกกังวล  มีภาวะซึมเศร้า สับสน   เครียด หรือกลัวมากกว่าปกติ  คนรอบๆตัวโดยเฉพาะคุณพ่อจึงต้องใจเย็นๆและคอยประคับประคองอารมณ์ของคุณแม่ให้ดีค่ะ

 

การดูแลคุณแม่ในการตั้งครรภ์ 1 เดือนแรก

เมื่อคุณแม่ทราบแล้วว่าตนเองตั้งครรภ์สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติตนไปฝากครรภ์กับสูตินารีแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน  และเริ่มดูแลสุขภาพของตนเองให้ดี  โดยเน้นทั้งในเรื่องการกินอยู่นอนหลับให้เหมาะสม  โดยต้องไม่นอนดึกเกินไปเพราะร่างกายของคุณแม่ต้องการการพักผ่อนจากการนอนหลับเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงในทุกๆคืน  ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายหลั่งสารเคมีต่างๆออกมาได้อย่างเหมาะสม  รวมถึงสารเคมีที่ช่วยในเรื่องของการตั้งครรภ์ด้วย   คุณแม่อาจหาเวลางีบเพื่อพักผ่อนในช่วงพักเที่ยงหรือช่วงบ่ายของวันเล็กน้อยเพื่อลดความง่วงระหว่างวันลง   ในด้านของอาหารการกินคุณแม่ควรรับประทานอาหารที่หลากหลายและครบ 5 หมู่  โดยเน้นอาหารที่ช่วยเสริมสร้างเซลล์ของร่างกายและสมองตามพัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์  คือมีโปรตีนสูง  ไขมันดีสูง  คาร์โบไฮเดรตอย่างเพียงพอ  และเน้นผักผลไม้  อันได้แก่    ปลาทะเล  ไข่  และนม  โดยเฉพาะนมควรดื่มให้ได้อย่างน้อยวันละ 2 แก้ว   เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้หลากหลายสีสันสลับกันไป ไม่ว่าจะเป็น  ผักใบเขียว  รวมถึงพืชผักที่เป็นหัว ธัญพืชต่างๆ  และเลือกผลไม้ที่หวานน้อยกากใยสูง  เช่น  ฝรั่ง  ส้ม มะละกอ  เป็นต้น    กินแป้งเชิงซ้อนเช่น  ข้าวกล้อง   เพื่อป้องกันและลดอาการท้องผูกหรือริดสีดวงที่มีโอกาสในการเป็นสูงมากในช่วงตั้งครรภ์  ดื่มน้ำให้เพียงพอโดยสามารถแบ่งเป็นการจิบเรื่อยๆระหว่างวัน    งดชา  กาแฟ  หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม  เลิกสูบบุหรี่  หรือออกให้ห่างจากคนที่สูบ  พยายามหาที่ๆโล่งโปร่งเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์

ถ้าหากช่วงนี้น้ำหนักตัวของคุณแม่เริ่มมีการขยับขึ้นก็ไม่ต้องกังวลนะคะถือเป็นเรื่องปกติ  แต่ควรจะเพิ่มขึ้นราวๆครึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ไม่ควรมากไปกว่านั้นเพราะอาจจะเสี่ยงกับอาการครรภ์เป็นพิษ  หรือเบาหวานความดันระหว่างการตั้งครรภ์ได้ค่ะ  โดยเฉพาะในกรณีของคุณแม่ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป  มีความจำเป็นต้องระมัดระวังตัวขณะตั้งครรภ์มากเป็นพิเศษ  เนื่องจากมีโอกาสสูงมากที่จะแท้งบุตร

 

ข้อควรระวังของคุณแม่ในการตั้งครรภ์ 1 เดือนแรก

นอกจากดูแลเรื่องการกินและการเข้านอนแล้วสิ่งที่ต้องระวังก็คือในช่วงตั้งครรภ์อ่อนๆนี้คุณแม่ทั้งหลายไม่ควรทำงานหนักจนเกินไป  ไม่ควรยกของหนัก  รวมถึงไม่ควรออกกำลังกายหนักด้วย  โดยเฉพาะการออกกำลังกายนั้นควรเลือกที่ไม่มีแรงกระแทก เช่น การออกกำลังกายในน้ำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์  การเดินเบาๆในช่วงเช้าและเย็นของทุกวัน  หรือการเล่นโยคะสำหรับคนท้อง  ซึ่งทั้งหมดนี้อย่าลืมปรึกษาแพทย์ด้วยนะคะ