พัฒนาการลูกน้อยวัย 6 เดือน

พัฒนาการลูกน้อยวัย 6 เดือน

ครึ่งปีแล้วนะคะที่คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นความน่ารักสดใสและพัฒนาการที่เปลี่ยยนแปลงของลูกน้อย   เดือนที่ 6 นี้ลูกน้อยเปลี่ยนแปลงจากที่นอนคว่ำนอนหงายอยู่นั้นไปสู่การนั่งได้แล้วนะคะ  ทำให้ในเดือนนี้ลูกน้อยจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวได้มากขึ้น และรวเร็วขึ้นอีกด้วยค่ะ  เด็กน้อยบางคนนั้นอาจสามารถนั่งเล่นของเล่นได้อย่างมั่นคง  เพราะกล้ามเนื้อคอและการควบคุมศรีษะของลูกเป็นไปอย่างสมบูรณ์แล้วนั่นเองค่ะ  ในเดือนที่ 6 นี้ลูกจะสามารถหันศรีษะไปได้ตามที่แกต้องการได้อย่างสบายเลย  และที่สำคัญในเดือนนี้ลูกน้อยสามารถกลืนอาหารอ่อนได้แล้วค่ะ วัยนี้ลูกต้องการสารอาหารที่มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อใช้ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของร่างกาย

ในวัยอายุ 6 เดือนนั้นลูกน้อยควรกินนมแม่หรือนมผงสำหรับทารกเป็นหลักประมาณ 20 ออนซ์
ขึ้นไป    ร่วมกับอาหารตามวัย 1 มื้อ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกเริ่มทานอาหารทีละอย่าง ไม่ควรให้พร้อมกันหลายอย่าง  ในช่วงนี้ควรเริ่มด้วยข้าวบดละเอียดกับกล้วย หรือข้าวบดละเอียดกับฟักทองไข่แดง หรือจะเป็นข้าวบดละเอียดกับตับหมู     เป็นต้นค่ะ  ซึ่งปริมาณการทานขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน  เด็กน้อยอาจทานได้ไม่เท่ากันค่ะ

 

ในเดือนที่ 6 นี้พัฒนาการของลูกน้อยเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างนั้นลองไปดูกันเลยนะคะ

พัฒนาการด้านร่างกาย

ในเดือนที่ 6 นั้นกล้ามเนื้อแขน ขา และหลัง ของลูกน้อยสมบูรณ์เต็มที่แล้ว จะเห็นได้ว่าเดือนนี้ลูกน้อยนั้นสามารถพลิกตัว และคืบเคลื่อนที่ไปข้างหน้า หรือถอยกลับมา หรือจะคืบไปด้านข้างได้อย่างคล่องแคล่วแล้วค่ะ แต่อย่างไรก็ตามเด็กบางคนก็ข้ามการคืบไปสู่การนั่งและคลานเลยก็มีค่ะ  ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างไรคุณพ่อคุณแม่ไม่ตัองกังวลนะคะ  ถือเป็นเรื่องที่ดีค่ะ   แต่หากเจ้าตัวน้อยของคุณพ่อคุณแม่ยังไม่คลานก็อย่าตกใจนะคะ  ให้พ่อแม่สังเกตการทำงานของแขน มือ และขาของลูกว่าเป็นไปอย่างไร ลูกสามารถใช้ได้คล่องแคล่วหรือไม่ ไปสักระยะจนถึงขวบแรกของลูก  ถ้าสังเกตไม่เห็นพัฒนาการของลูกเป็นดังกล่าว จึงค่อยปรึกษาคุณหมอนะคะ

ในวัย 6 เดือนนี้ลูกมีพัฒนาการทางร่างกายดีขึ้นอย่างมาก  ลูกน้อยสามารถทำอะไรต่าง ๆ ได้ดังที่ตนตั้งใจแล้วค่ะ  คุณพ่อคุณแม่เห็นพัฒนาการลูกแล้วจะเข้าใจว่าลูกนั้นมีลักษณะนิสัยชอบหรือไม่ชอบอะไรได้มากขึ้น  เช่นลูกเป็นคนชอบเคลื่อนไหวตลอดเวลา หรือลูกเป็นคนที่ชอบสนใจของเล่นในมือเป็นเวลานาน ๆ  เป็นต้น  และในเดือนนี้ฟันซี่แรกของลูกน้อยเริ่มขึ้นแล้ว เจ้าตัวน้อยจะมีอาการเข็ดฟันและคันเหงือกบ้าง คุณพ่อคุณแม่หายางกัดไว้ให้ลูกขบเล่น
นะคะ  ยังเป็นการกระตุ้นการขึ้นของฟันได้ดีขึ้นด้วย

 

พัฒนาการด้านสติปัญญาและอารมณ์

วันนี้ลูกน้อยเข้าใจหน้าที่ของของเล่นและของใช้ต่าง ๆ ได้ดีแล้วนะคะ เรียนรู้และสามารถเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันของลูกได้อย่างรวดเร็ว   การหยิบจับ การเคลื่อนไหวนั้นแม่นยำขึ้นมากเลยค่ะ รวมทั้งลูกชอบเลียนแบบกิริยาท่าทางรวมทั้งภาษาที่ได้ยินอยู่เป็นประจำอีกด้วย เกมส์โปรดของลูกน้อยวัยนี้คือเกมส์ เกมจ๊ะเอ๋ ปิดหน้าเราด้วยมือหรือผ้าแล้วเล่นจ๊ะเอ๋กับเขา  ลูกจะรู้สึกตื่นเต้นและหัวเราะจนเห็นเหงือกเลยทีเดียว

พัฒนาการที่ดีขึ้นลูกน้อยจะมีสามารใช้มือได้สัมพันธ์กับสิ่งของที่อยู่ในมือ  คุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่าเด็กน้อยเมื่อถือของอยู่มือหนึ่ง จะใช้อีกมือหนึ่งหยิบของเล่น แถมยังมองของชิ้นที่ 3 ได้อีกด้วยใช่มั๊ยค่ะ ระบบประสาทสัมพันธ์กันมากขึ้น สามารถคว้าสิ่งของด้วยความแม่นยำขึ้น และหากสังเกตจะเห็นว่าลูกจะหยุดร้องเมื่อได้ยินเสียงเพลงบ่อยครั้ง วัยนี้เสียงอ้อแอ้ อู้ อ้า สูงต่ำของลูกที่พูดออกมานั้นเป็นการสื่อความรู้สึกของลูกออกมาด้วยนะคะ เพราะลูกเริ่มใช้น้ำเสียงและรูปแบบของการใช้ภาษาคล้ายพ่อแม่แล้ว ลูกวัยนี้จะชอบส่งเสียงคุย และส่งเสียงจ้อตอบเสียงที่สนใจ โดยเฉพาะเสียงผู้หญิง  คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นอ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อย ๆ  นะคะ จะช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับภาษามากขึ้น

 

พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคม

ลูกได้เรียนรู้ว่าจะมีปฏิกิริยาตอบกลับจากสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง และจะมีการปักใจในสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวด้วยการมองสังเกต  ทดลองเล่น  คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มให้ลูกนั่งรถเข็นเดินเล่นในระแวกบ้าน  พาให้ลูกได้ไปเจอลุงป้าน้าอามากมาย  จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ความแตกต่างของแต่ละบุคคลได้ดียิ่งขึ้นค่ะ เด็กวัย 6 เดือนจะมีความจำแม่นยำขึ้นมาก  เริ่มเรียนรู้ที่เริ่มเลียนแบบกิริยาท่าทางรวมทั้งภาษาที่ได้ยินอยู่เป็นประจำด้วย พยายามเลียนแบบ
การแสดงอารมณ์ทางสีหน้า ชอบเล่นกับคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อมีเกม  ยิ้มให้กับเงาตนเองในกระจกด้วยเด็กน้อยสามารถแยกตัวเองกับกระจกเงาได้นั่นเองค่ะ  หันหน้ามามองเมื่อได้ยินคนเรียกชื่อตัวเอง  คุณพ่อคุณแม่เรียกชื่อลูกน้อยบ่อย ๆ
นะคะ  ลูกน้อยจะได้จำชื่อของตัวเองค่ะ

 

เด็กวัยนี้ มักชอบที่จะหัวเราะกับเรื่องตลกที่เห็นภาพและท่าทางค่ะ  เพียงแค่คุณแม่ทำหน้าตาตลกๆ แปลกๆ  ให้ลูกเห็นเขาก็จะรู้สึกขำและหัวเราะได้แล้ว นอกจากลูกจะรู้สึกผ่อนคลายแล้ว ยังทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับคุณพ่อคุณแม่ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นอีกด้วยนะคะ