พัฒนาการของลูกน้อย วัย 1 เดือน

พัฒนาการของลูกน้อย วัย 1 เดือน

คุณพ่อคุณแม่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพัฒนาการลูกน้อย ทำให้คนเป็นพ่อแม่รู้สึกตื่นเต้น และดีใจมาก ๆ เพราะมันหมายถึงลูกรักเจริญเติบโตตามวัย

คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสิรมให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรัก และความเข้าใจ ให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้และฝึกทำ

เด็กวัย 1 เดือนมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ  อย่างไรและวิธีการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัยได้อย่างไร มาดูไปพร้อม ๆ  กันดังนี้

 

พัฒนาการด้านร่างกาย   

เด็กวัย 1 เดือนนั้นน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นจากแรกเกิดประมาณ 1/8 กิโลกรับต่อสัปดาห์ และสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 1 นิ้ว คอยังไม่แข็ง ต้องช่วยพยุงขณะอุ้ม หากนอนคว่ำเด็กจะยกศรีษะได้ชั่วครู่  สามารถเคลื่อนไหวมือ แขน และขาทั้งสองได้  สามารถดูดปากตัวเองเสียงดับจุ๊บจั๊บ มีอาการสะดุ้งและผวา มือเท้าสั่นบ่อย ๆ  ซึ่งเป็นอาการปกติ เรียกว่า โมโร่รีเฟลกซ์ (MORO Reflex) เมื่อเด็กร้องหรือตกใจ จะดูเหมือนทำท่าผวา มือเท้าสั้น หรือยิ้มน่ารักตอนนอนอยู่เฉย ๆ  หากลูกสะดุ้งหรือขยับตัวให้คุณพ่อคุณแม่ยิ้มและสัมผัสตัวเด็ก สบตาพูดคุย และยิ้มด้วย การโอบกอด สัมผัส และอุ้มเด็กบ่อยๆ เพื่อให้ลูกน้อยสัมผัสถึงความอบอุ่น เชื่อมั่น เวลาอุ้มควรสบตา ยิ้มและพูดคุย หรือร้องเพลงให้ลูกฟังระหว่างให้นมแม่ แสดงความดีใจ ชมเชย เมื่อเด็กมีการตอบสนองต่อการกระตุ้นต่างๆ ควรออกกำลังกายแขนขา โดยการให้ลูกนอนหงาย และจับขาขึ้น ลง งอ หรือเหยียด การฝึกเพื่อกระตุ้นให้ลูกหันศรีษะมองตามทำได้โดยการเขย่าของเล่นให้มีเสียงแล้วค่อย ๆ เคลื่อนของเล่นมาทางด้านซ้ายหรือขวาเพื่อให้ลูกหันศรีษะมองตาม ช่วยพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของลูกน้อยได้อย่างดี

 

พัฒนาการด้านสติปัญญา และอารมณ์

พัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กน้อยวัย 1 เดือนจะเป็นพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและพัฒนาด้านภาษา สำหรับวัย 1 เดือนเด็กมีการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน สมองและระบบประสาทกำลังเชื่อมต่อได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ยังไม่มีการรับรู้ภาษา แต่จะมีการสื่อภาษาโดยทำเสียงในคอ จะร้องไห้เก่ง อาจเกิดจากต้องปรับตัวให้ชินกับโลกภายนอกท้องของคุณแม่  การร้องไห้เป็นวิธีที่เด็กน้อยวัย 1 เดือนถนัดที่สุด เพื่อบอกว่าเค้าต้องการบางอย่างจากคุณแม่ ออกเสียได้บ้างแต่อยู่ในลำคอ เด็กน้อยจะถือตัวเองเป็นศูนย์กลางทนความคับข้องใจได้น้อย เมื่อต้องการอะไรต้องได้ทันที  ในเด็กวัย 1 เดือนนั้นอารมณ์จะเป็นไปตามอัตโนมัติ แม้จะมีอารมณ์ได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่แต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ ผ่านไปแล้วก็ลืมหมด ไม่มีความเครียดเหลืออยู่จนกว่าจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นใหม่ ส่วนการยิ้มของเด็กในวัยนี้ยังไม่มีความหมายอะไร

ในวัย 1 เดือนนี้เด็กจะลืมตามองมากขึ้น ถ้าแสงในห้องไม่สว่างจ้าจนเกินไป แต่การมองเห็นของเขายังพัฒนาไม่เต็มที่ มีทักษะการเพ่งมองจำกัดแต่สามารถสบตา จ้องมองหน้าแม่ได้ในระยะ 1 ฟุตนานสัก 1-2 นาทีเท่านั้น  เรียนรู้โดยเปรียบเทียบสีตัดกันชัดเจน เช่น สีดำตัดกับสีขาว และชอบมองวัตถุที่เคลื่อนไหวมากกว่าวัตถุที่อยู่นิ่ง ๆ ระหว่างที่เด็กกำลังจ้องมองวัตถุนั้น เซลล์สมองจะเติบโต และสร้างเซลล์ประสาทเชื่อมต่อจุดต่าง ๆ เพื่อเตรียมสมองให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในด้านอื่นๆ ด้วย   เคล็ดลับที่คุณแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการคือกระตุ้นการมองเห็นของลูก   คุณพ่อคุณแม่จ้องมองหน้าลูก ยิ้มแย้ม มองสบตา หรือทำตาลักษณะต่าง ๆ เช่น ตาโต กระพริบตา เพื่อให้เด็กสนใจ  เอียงหน้าไปมาช้า ๆ  ให้ลูกมองตาม อีกวิธีที่ได้ผลดีทีเดียวคือการนำแผ่นกระตุ้นสายตาที่มีสีขาว-ดำ-แดง หรือโมบายล์มาห้อยให้ลูกดูเหนือเตียงนอนของลูกในระยะประมาณ 1 ฟุต

 

พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคม

ลูกน้อยวัย 1 เดือนจะสามารถมองจ้องหน้าคุณพ่อคุณแม่ได้   จะหยุดร้องไห้เมื่ออุ้มขึ้นมาและพูดคุยด้วย  สามารถยิ้มหรือส่งเสียงตอบได้เมื่อพ่อแม่แตะต้องตัวและพูดคุยด้วย  วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคม คุณพ่อคุณแม่นั้นต้องยิ้มแย้ม มองสบตา เล่น พูดคุยกับลูก อุ้มบ่อย ๆ อุ้มพาดบ่าบ้าง เสียงคุณพ่อคุณแม่ที่สามารถร้องคลอไปกับเสียงดนตรีช่วยให้ลูกน้อยพยายามสร้างเสียงจากตัวเองด้วย และทำให้ลูกน้อยเกิดความผูกพันธ์ สร้างความเชื่อมโยงจากเสียงคุณพ่อคุณแม่กับเสียงดนตรี เสียงดนตรีกล่อมคลอเบา ๆ นุ่มนวลนั้นจะช่วยทำให้เด็กเรียนรู้ถึงการทำให้สงบด้วยตนเอง ระงับความกลัว ช่วยเพิ่มความสุขให้ก้บเด็กน้อยด้วย

ความสุขถือเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาด้านอารมณ์ จิตใจของลูกน้อย แม้จะอายุเพียงแค่เดือนเดียวแต่เด็กก็สามารถรับคลื่นความเครียด การไม่มีความสุขของคุณพ่อคุณแม่ได้ทันที และจะร้องงอแงอย่างไม่มีเหตุผล แต่หากคุณพ่อคุณแม่อารมณ์ดี ลูกก็จะเป็นเด็กโยเยน้อย ร่าเริงแจ่มใส

อย่างไรก็ตามพัฒนาการเป็นกระบวนการที่มีการประสานงานกันพร้อมกันไปทั้งหมดทั้งร่างกายและจิตใจ
เด็กปกติทั่วไปจะมีลำดับขั้นของการพัฒนาการใกล้เคียงกัน ถ้าลูกน้อยมีพัฒนาการล่าช้าเกิด 6 เดือนขึ้นไป ถือว่ามีความผิดปกติบางอย่างที่ต้องรีบช่วยเหลือ และกระตุ้นพัฒนาอย่างเร็วที่สุด พัฒนาการตามวัยของลูกนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจต้องใช้ความสังเกต และใช้สัญชาตญาณของความเป็นพ่อเป็นแม่ ปรับแปลี่ยนดูแลลูกไปตามเห็นสมควร ขยันสอบถาม ศึกษาหาความรู้จากกุมารแพทย์ และต้องเข้าใจว่าความสามารถตามวัยของเด็กแต่ละคนอาจมีพัฒนาเร็ว-ช้า แตกต่างกัน ซึ่งถ้าเด็กทำไม่ได้ ควรให้โอกาสลูกฝึกก่อนใน 1 เดือน ถ้าไม่มีความก้าวหน้าควรปรึกษากุมารแพทย์