พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 9

พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 9

พัฒนาการของลูกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 9

ถึงเวลาที่คุณแม่รอคอยแล้วนะคะ  เมื่อหมดเดือนนี้คุณแม่ก็จะได้ยลโฉมเจ้าตัวเล็กสมใจที่รอคอยมานานแสนนาน  และพึงระลึกด้วยค่ะว่าสุขภาพที่ดีของคุณแม่ก็คือสุขภาพที่ดีของลูกดังนั้นเมื่อย่างเข้าสู่เดือนที่ 9 นี้คุณแม่ควรหยุดทำงานได้แล้วค่ะ  ควรจะตั้งหน้าตั้งตากินให้พอ  นอนให้พอ  พักผ่อนให้พอ  และมีความสุขให้มากเพื่อเตรียมควาทพร้อมในการคลอดที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ค่ะ

 

พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ เดือนที่ 9

ในเดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์ทารกจะเอาหัวลงเชิงกรานเป็นที่เรียบร้อยพร้อมที่จะคลอดได้ตลอดเวลา  ที่นิ้วมือจะมีเล็บยาวทั้งเล็บมือและเล็บเท้า  ซึ่งอาจจะข่วนตัวเองเป็นรอยได้  ลุกอัณฑะจะตกลงไปอยู่ในถุงอัณฑะเป็นที่เรียบร้อยในเด็กชาย  และทารกจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 8 กรัมในทุกๆวันจนกว่าจะถึงวันคลอด  ยังคงมีไขเคลือบอยู่ที่ลำตัว  ขนอ่อนที่เคยขึ้นตามตัวจะเริ่มหลุดร่วงออกไปบางส่วน  ในลำไส้จะมีอุจจาระค้างอยู่และจะถูกขับออกเมื่อมีการถ่ายอุจจาระในครั้งแรกโดยเรียกว่าขี้เทา   ทารกจะมีไขมันสะสมในร่างกายเพิ่มมากขึ้นจะดูอ้วนท้วนต่างกับก่อนหน้านี้ที่เนื้อตัวเหี่ยวๆผอมๆ โดยในช่วงเวลานี้ลุกควรจะดิ้นมากกว่า10ครั้งต่อวัน  ซึ่งหากคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยกว่านี้ควรรีบไปพบแพทย์  ที่สำคัญคือทารกอาจคลอดก่อนหรือหลังกำหนดคลอดได้ราวๆ2สัปดาห์คุณแม่จึงไม่ควรกังวลจนมากเกินไปเพราะจะก่อให้เกิดความเครียดซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของทารกได้     โดยมีความยาวประมาณ 50 ซม.  และมีน้ำหนักราวๆ 3 กิโลกรัม

 

พัฒนาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 9

ในส่วนพัฒนาการของคุณแม่นั้นจะมีอาการคันบริเวณผิวหนังเนื่องจากมีความตึงตัวจากขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น  ควรบำรุงผิวด้วยเบบี้ออย  หรือครีมที่ให้ความชุ่มชื้นสูงเพื่อป้องกันการอักเสบแตกลายของผิว  คุณแม่จะท้องใหญ่จนลุกนั่งหรือเดินไม่สะดวกอยากจะพักผ่อนตลอดเวลา จะรู้สึกหน่วงๆที่ท้องน้อย  ปากมดลูกจะนุ่มขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมในการคลอด จะรู้สึกว่าตัวหนักเคลื่อนไหวลำบาก  โดยเมื่อมาถึงในช่วงนี้คุณแม่ควรมรน้ำหนักขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ราว 10-12 กิโลกรัม  ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้  โดยน้ำหนักส่วนใหญ่ก็คือน้ำหนักของทารกเอง  รองลงมาคือน้ำหนักของเลือดและน้ำที่สะสมในช่วงตั้งครรภ์  อีกส่วนจะอยู่ที่มดลูกเต้านมต้นขา  นอกนั้นจะเป็นน้ำหนักของน้ำคร่ำและรก  แต่ถ้าหากคุณแม่มีน้ำหนักที่มากจนเกินไปที่เหลือคือไขมันส่วนเกินในร่างกายที่จำเป็นต้องลดเพื่อสุขภาพในอนาคต  คุณแม่จะมีการเจ็บท้องเตือนบ่อยครั้งขึ้น   ซึ่งอาจเป็นการเจ็บท้องจริงได้ทุกเมื่อจึงควรมีการฝึกการเตรียมพร้อมในส่วนของข้าวของเครื่องใช้ในการคลอดไว้ตลอดเวลา

 

การดูแลคุณแม่ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 9

การดุแลคุณแม่ในช่วงนี้เน้นหนักคือในเรื่องของการพักผ่อนให้เพียงพอ  ย้ำนะคะว่าคุณแม่ต้องพักผ่อนค่ะไม่มีข้อโต้แย้งใดใดนะคะ  เพราะตอนนี้คุณแม่มีเวลาเหลืออีกไม่กี่วันที่จะเตรียมตัวในการคลอด  จึงจำเป็นต้องพักผ่อนเพื่อเก็นแรงเอาไว้รับขวัญเจ้าตัวน้อยที่กำลังจะออกมาลืมตาดูโลกในเร็ววันนี้ค่ะ  ซึ่งในสัปดาห์ท้ายๆของการตั้งครรภ์หากคุณแม่มีน้ำหนักลดลงไปเล็กน้อยไม่ต้องตกใจนะคะ  นั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่าทารกน้อยพร้อมจะออกมาสู่โลกนี้แล้วค่ะ  นอกจากการพักผ่อนให้เพียงพอแล้วคุณแม่ควรรับประทานให้เต็มที่แต่เลือกรับประทานอาหารที่บำรุงสุขภาพย่อยง่าย  และให้โปรตีนสูง  พร้อมด้วยไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก  อโวคาโด   ปลาทะเล  เป็นต้น  รวมทั้งคาร์โบไฮเดรต  เพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับวันสำคัญค่ะ  คุณแม่อาจจะตื่นเต้นจนหลายท่านอาจจะรู้สึกกลัว  แนะนำให้ฝึกการหายใจเข้าแกให้ลึกและเป็นจังหวะค่ะ  การฝึกลมหายใจนี้จะสามารถช่วยลดความเจ็บปวดขณะคลอดลงและช่วยลดความเครียดให้กับคุณแม่ได้เป็นอย่างดี  โดยการสูดลมหายใจเข้าทางจมูกให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้  แล้วปล่อยลมหายใจออกทางปากโดยให้ระยะเวลาของการผ่อนลมหายใจออกนั้นยาวกว่าการสูดลมหายใจเข้าเล็กน้อย  ทำอย่างนี้ซ้ำๆบ่อยๆทุกวัน  เมื่อถึงเวลาคลอดร่างกายก็จะสามารถหายใจในลักษณะนี้ได้อย่างอัตโนมัติเนื่องจากมีการฝึกฝนไว้แล้วนั่นเอง

 

ข้อควรระวังของคุณแม่ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 9

ข้อควรระวังของคุณแม่ในเดือนนี้ยังคงเหมือนกับเดือนก่อนๆที่ผ่านมา  แต่ที่ควรใส่ใจให้มากที่สุดก็คือการเจ็บท้องคลอด เพราะคุณแม่ที่ท้องเป็นครั้งแรกอาจจะแยกไม่ออกระหว่างเจ็บท้องคลอดเตือนกับเจ็บท้องคลอดจริง  การเจ็บท้องคลอดแบบเตือนนั้นจะเจ็บแบบถี่ๆเป็นจังหวะแต่ไม่ปวดและไม่มีน้ำคร่ำไหลออกมา  ในขณะที่จากเจ็บท้องคลอดจริงนั้นจะเจ็บปวดมากและมีการบีบรัดตัวของมดลูกเป็นจังหวะๆ  แต่การบีบนั้นจะถี่ขึ้นหรือระยะห่างในการบีบตัวของมดลูกจะสั้นลงๆ  ระหว่างนี้อาจมีการบีบรัดตัวจนถุงน้ำคร่ำแตกได้  ดังนั้นก่อนสัปดาห์นัดคลอดสองสัปดาห์จนถึงสองสัปดาห์หลังกำหนดคลอด(ในกรณีที่ยังไม่คลอด) คนรอบตัวคุณแม่โดยเฉพาะคุณพ่อต้องคอยดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ไปคลอดได้ทันเวลาที่โรงพยาบาลทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกที่กำลังจะเกิดมา