ลูกตัวเหลืองหลังคลอด ดูแลรักษาอย่างไร

ลูกตัวเหลือง

ลูกตัวเหลืองหลังคลอด เกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรกเกิด เป็นอีกภาวะที่พบได้บ่อยมากในปัจจุบันและเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้เรามีวิธีการดูแลทารกตัวเหลืองมาฝากกัน ส่วนความเชื่อที่ว่าเด็กตัวเหลืองหลังคลอดเพราะกินน้ำน้อย จะจริงหรือไม่ เรามีคำตอบมาแนะนำกันค่ะ

ภาวะตัวเหลืองคืออะไร
ภาวะตัวเหลืองตาเหลืองไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการที่เกิดจากการมีสารสีเหลือง (ภาษาแพทย์เรียกว่าบิลิรูบิน) สารสีเหลืองนี้จะไปเกาะตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้สีผิวหรือสีตาขาวของลูกน้อยมีสีเหลือง

 

สาเหตุที่ทำให้ลูกตัวเหลืองตามปกติ มีสาเหตุจาก

– เม็ดเลือดแดงของลูกน้อยมีการทำลายและสร้างใหม่ตามธรรมชาติได้รวดเร็วกว่าเม็ดเลือดแดงของผู้ใหญ่

– ตับของทารกยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ จึงขับสารเหลืองออกจากร่างกายได้ไม่ดี

– ทารกได้รับน้ำนมแม่ในช่วงแรกคลอดค่อนข้างน้อย

 

ทารกบางคนอาจมีอาการตัวเหลืองมากกว่าปกติ มีสาเหตุจาก

– กลุ่มเลือดของแม่และทารกไม่เข้ากัน ทำให้มีการสร้างสารสีเหลืองเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ

– มีเอนไซม์บางชนิดในเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ

– ภาวะความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ

– ทารกคลอดก่อนกำหนดจะมีเอนไซม์ในเลือดบางอย่างต่ำกว่าทารกคลอดครบกำหนด

– ประวัติลูกคนก่อนมีภาวะตัวเหลืองมาก และอายุเริ่มต้นที่มีภาวะตัวเหลืองเกิดเร็ว ภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด โอกาสที่คนต่อไปจะมีภาวะตัวเหลืองสูงก็จะเพิ่มมากขึ้น

 

ตัวเหลืองรักษาอย่างไร

ทารกที่มีอาการตัวเหลืองทุกราย จะต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับของสารสีเหลืองเป็นระยะ ๆ

1. กรณีสารสีเหลืองไม่สูงมาก ทารกสามารถขับสารสีเหลืองออกมาได้เอง ไม่ต้องรักษา

2. การส่องไฟ โดยใช้แสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนซ์ (แสงนีออน) ที่มีความเข้มข้นสูง (ไม่ใช้แสงแดดส่อง) แสงไฟจะช่วยเปลี่ยนสภาพของสารสีเหลืองให้ขับออกทางอุจจาระ ปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

3. ถ้าส่องไปแล้วสารสีเหลืองยังไม่ลด คุณหมอจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรจะใช้วิธีต่อไปคือ การถ่ายเปลี่ยนเลือด เป็นการนำเอาเลือดที่มีสารสีเหลืองออกจากตัวทารก แล้วให้เลือดใหม่แทน ซึ่งวิธีนี้จะใช้เมื่อมีสารสีเหลืองสูงถึงขั้นอาจเกิดอันตรายต่อทารกได้

 

เหลืองแบบไหน…น่าเป็นห่วง

โดยปกติแล้วทารกที่ครบกำหนดคลอดและมีสุขภาพแข็งแรงประมาณ 80% จะมีภาวะตัวเหลืองจาง ๆ แต่เมื่ออายุ 3-4 วัน จะหายจากอาการตัวเหลืองไปเอง หากทารกมีอาการตัวเหลืองผิดปกติ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยทั่วไปจะพบน้อยกว่า 1% คือมีระดับสารสีเหลืองสูงกว่าปกติ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นลูกมีอาการดังต่อไปนี้ต้องระวัง

– เหลืองเร็ว คือเหลืองให้เห็นภายในอายุ 1-2 วันแรก

– เหลืองจัด คือเหลืองเข้ม ฝ่ามือฝ่าเท้าเหลืองชัดเจน

– เหลืองนาน แม้อายุจะเกิน 7 วันแล้ว แต่ยังมีอาการเหลืองอยู่ อุจจาระมีสีซีด ปัสสาวะสีเข้มกว่าปกติ

– เหลืองร่วมกับอาการเจ็บป่วยอื่น เช่น มีไข้ ซึม อาเจียน ถ่ายเหลว

หากพบว่าลูกมีอาการดังกล่าว ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ เพราะสารสีเหลืองที่มีมากเกินไปอาจจะไปเกาะในเซลล์สมอง ทำให้เกิดความผิดปกติทางสมอง และอาจถึงขั้นปัญญาอ่อนได้ หากไม่รักษาให้ทันเวลา

 

คุณหมอแนะนำ&ไม่แนะนำ

ควรรักษา “ภาวะตัวเหลือง” ผิดปกติในโรงพยาบาลจนหายก่อนกลับบ้าน โดยรักษาด้วยวิธีส่องไฟและการถ่ายเลือด จำเป็นต้องทำในโรงพยาบาล จึงไม่แนะนำให้พาทารกที่เริ่มมีภาวะตัวเหลืองกลับบ้านก่อน และหากมีอาการเหลืองมาก คุณหมอจะตรวจอาการและรักษาอย่างใกล้ชิด และทันเวลา ภาวะตัวเหลืองไม่สามารถรักษาตามคลินิก ควรรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะทารกแรกเกิดต้องมีการดูแลจากผู้ชำนาญ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามด้วย เช่น

ไม่จำเป็นต้องให้ทารกที่มีภาวะตัว เหลืองดื่มน้ำมาก ๆ เพราะน้ำไม่ช่วยกำจัดสารสีเหลืองในทารก และไม่ทำให้ตัวเหลืองลดลง กลับมีผลเสียตามมาคือ ทารกจะดื่มนมได้น้อยลง สารอาหารที่ทารกควรได้รับในแต่ละมื้อจะไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโต

ไม่จำเป็นต้องพาทารกไปรับแสงแดด โดยถอดเสื้อออกหมด เพราะไม่สามารถกำจัดภาวะตัวเหลืองที่ผิดปกติได้ จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น